อสังหาฯอเมริกาทรงตัว-ญี่ปุ่นโตต่อเนื่อง

บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จำกัด ประมวลภาวะตลาดอสังหาฯต่างแดน หลายประเทศขึ้น-ลงตามวัฏจักร

          สหรัฐอเมริกา : สถิติ ณ สิ้นเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นเดือนล่าสุดที่มีข้อมูล จากรายงานของสำนักงานการเงินเคหะการแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาที่อยู่อาศัยในเดือนดังกล่าว ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดือนตุลาคม และราคาระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม ราคาบ้านเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ส่วนเดือนสิงหาคม - กันยายน ราคาที่อยู่อาศัยกลับลดลงถึง 1.2% แสดงนัยให้เห็นว่า ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกายังย่ำแย่อยู่เช่นเดิม   ในรอบ 1 ปี คือ ธันวาคม 2552 – พฤศจิกายน 2553 ราคาที่อยู่อาศัยตกต่ำลงไป 4.3% ราคาที่อยู่อาศัย ณ วันนี้ เท่ากับราคาเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 ก่อนจะขึ้นสูงสุดในเดือนเมษายน 2550 และตกต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาบ้านในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาถึง 16 ปีก่อนที่จะตกต่ำลง นับเป็นรอบการขึ้นที่เนิ่นนานมาก และหวังว่ารอบการตกต่ำนี้จะไม่เนิ่นนานเท่านี้
           เกาะกวม เป็นหมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกในอาณัติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแหล่งพักผ่อน-ท่องเที่ยวสำคัญแห่งหนึ่ง ปรากฏว่า ตามรายงานของการวิจัยของกัปตันเรียลเอสเตท ตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับไม่ได้ตกต่ำเช่นในสหรัฐอเมริกา มีกิจกรรมการขายรวมมูลค่าถึง 12,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22% โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นห้องชุดพักอาศัย มีการซื้อขายเพิ่มขึ้น 48%   ราคาบ้านเพิ่มขึ้น 6% ยิ่งหากเป็นห้องชุด ราคาเพิ่มขึ้นถึง 13% และหากเป็นห้องชุดราคาแพง ราคาพุ่งสูงขึ้นอีก   ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการท่องเที่ยวและการที่กิจการฐานทัพสหรัฐ อเมริกาในพื้นที่มีกิจกรรมคึกคัก ทำให้มีทหารมาประจำการจำนวนมาก มีครอบครัวและญาติมิตรมาร่วมด้วย   กลุ่มประเทศเล็ก ๆ ในแถบนี้จะจัดงานประชุมการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มประเทศไมโครนีเซีย โดยครั้งที่ 6 จะจัดในช่วงเดือนกันยายน 2554 ผู้สนใจด้านอสังหาริมทรัพย์ อาจพิจารณาไปลงทุนได้ 


            ญี่ปุ่น : สมาคมรวมอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่นรายงานว่า ภายในปี 2593 หรืออีก 39 ปีข้างหน้า 40% ของประชากรญี่ปุ่น จะมีอายุเกินกว่า 65 ปี   ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอาจชราไปตามอายุที่เพิ่มขึ้นของ ประชากร   ซึ่งการนี้จะส่งผลอย่างลึกซึ้งต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ญี่ปุ่นที่แตกต่างไป อย่างสิ้นเชิง   รูปแบบที่อยู่อาศัยก็จะเปลี่ยนแปลงไป อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น   อย่างไรก็ตามในวันนี้ ชาวญี่ปุ่นยังลงทุนในอาคารชุดพักอาศัยในกรุงโตเกียวมากขึ้นด้วยเหตุผลว่า มีความต้องการสูง ประชากรมีการแตกตัวเพิ่มกำลังซื้อมากขึ้น สามารถเก็บกินค่าเช่าได้สูงโดยไม่มีการจำกัดค่าเช่า ขณะที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในอัตราต่ำ ผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของได้ และไม่มีข้อห้ามสำหรับการซื้อห้องชุดของชาวต่างชาติ ดังนั้น แม้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมจะยังทรงอยู่ แต่การซื้อขายที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะอาคารชุด ยังมีความคึกคักอยู่พอสมควร  


            ออสเตรเลีย : ข้อมูลจากรัฐควีนส์แลนด์พบว่า ออสเตรเลียแม้จะมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและส่งผลถึงอสังหาริมทรัพย์บ้าง แต่ก็ยังถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าประเทศตะวันตก   โดยราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มถึงจุดสูงสุดในปี 2549 และตกต่ำเรื่อยมา จนต่อมา ราคาบ้านในรัฐควีนส์แลนด์ โดยเฉพาะทางด้านเหนือ ตกต่ำลงเหลือประมาณ 60% ของมูลค่าเดิม   อย่างไรก็ตามในปัจจุบันราคาบ้านกลับกระเตื้องขึ้นบ้างแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเข้ามาลงทุนซื้อบ้านของนักลงทุนจีน เช่นที่เข้าไปซื้อห้องชุดราคาแพงในสิงคโปร์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ราคาที่อยู่อาศัยดีขึ้น   แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีน้ำท่วม แต่เชื่อว่าหลังน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ สถานการณ์จะคลี่คลายสู่ภาวะปกติ   อุบัติภัยธรรมชาติ มักไม่อาจทำให้มูลค่าทรัพย์สินตกต่ำลงไป ยกเว้นทรัพย์สินที่ถูกทำลายไป เช่น โรงแรมที่เสียหายไปในกรณีสึนามิ   แต่ราคาบ้านและที่ดินไม่ได้ตกต่ำตามไป เพียงแต่ตกต่ำไปตามภาวะเศรษฐกิจบ้าง 


            ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก อยู่ในภาวะขึ้นลงตามวัฏจักร อย่างไรก็ตามวัฏจักรของแต่ละประเทศ แต่ละประเภทของสินค้าอสังหาริมทรัพย์ แต่ละทำเล และแต่ละระดับราคาของอสังหาริมทรัพย์นั้น ๆ ก็อาจแตกต่างกัน   บางส่วนก็อาจอยู่ในภาวะที่ “ บูม ” บางส่วนก็อยู่ในภาวะ “ ชะลอตัว ” บางส่วนก็อยู่ในว่า “ ตกต่ำ ” และบางส่วนก็อยู่ในภาวะกลังฟื้นตัว เป็นต้น






Credit by : http://www.bangkokbiznews.com

No comments:

Post a Comment